สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์

พระประวัติโดยสังเขป

         จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ประสูติเมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2424 ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินีร่วมสมเด็จพระชนนีพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตนสุขุมขัติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์

       เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาวิชาสำหรับขัตยราชกุมารในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบและโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ มิสเตอร์โรเบิร์ต มอรันด์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ภายหลังได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษ ดำรงตำแหน่งประธานสภาการศึกษาของประเทศนั้น

      เมื่อเจริญพระชันษาได้ 10 ปี ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ดิลกจันทรนิภาพงศ์ มหามกุฎวงศ์นราธิราช จุฬาลงกรณ์นาถราชวโรรส อดุลยยศอุภโตพงศ์พิสุทธิ์ นรุตมรัตนขัติยราชกุมาร กรมขุนมไหสุริยสงขลา จากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการในทวีปยุโรป ในเบื้องแรกทรงศึกษาในสำนักของ มิสเตอร์แบร์ซิล ทอมสัน และสำนักของ พันตรีซี.วี.ฮูมย์ ที่มณฑลซาร์รี่ย์ ประเทศอังกฤษ ครั้นถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2439 ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนี ดังนี้

- ทรงสำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองปอร์ตสดัม ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2441

- ทรงสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร “ แฟนริช ” จากโรงเรียนนายร้อย เมืองเบอร์ลิน เมื่อพ.ศ. 2441 จากนั้นทรงเข้าประจำการในกองร้อยที่ 11 กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่ 4 ซึ่งเป็นธรรมเนียมสำหรับนายทหารที่มาจากพระราชวงศ์หรือผู้มีสกุลสูง

- ทรงได้รับพระราชทานพระยศนายร้อยตรีเหล่าทหารราบ แห่งกองทัพบกเยอรมนีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2443 จากนั้นได้ทรงศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการ คริช ชูเลอ เมืองคัสเซล ทรงสำเร็จด้วยผลคะแนนยอดเยี่ยม ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรชมเชยเป็นพิเศษจาก สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเลียมที่ 2 แห่งเยอรมนี

      เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา ได้เสด็จกลับมาเยี่ยมประเทศไทยเป็นการชั่วคราว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเปลี่ยนพระนามให้เป็น“ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 จากนั้นจึงเสด็จกลับประเทศเยอรมนีเพื่อทรงศึกษาต่อดังนี้

- ทรงสำเร็จหลักสูตรสำหรับนายทหารชั้นนายพัน โรงเรียนแม่นปืน เมืองสะบันเดา

- ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนปืนใหญ่ เมืองกีย์เตอร์บอร์ด ตามหลักสูตรสำหรับนายทหารชั้นนายพล

- ทรงศึกษาพิเศษในโรงเรียนเสนาธิการ อาลเดอมี เรื่องตำรายุทธศาสตร์และยุทธวิธี และได้ทรงฝึกหัดการนำทัพในสนามรบด้วย

- ทรงเข้าฟังปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน 1 ภาคการศึกษา ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ กฎหมายธรรมเนียมระหว่างประเทศ และการปกครองอาณานิคม

      จากนั้นได้เสด็จกลับประเทศไทย ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสด้วย หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม ไชยันต์ ธิดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย และ หม่อมกลีบ

      ทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาธิการทหารบกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2446 และได้ทรงศึกษากิจการพลเรือนที่กรมราชเลขาธิการด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ด้วยมีพระบรมราชประสงค์จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงจัดการกรมทหารเรือให้เป็นที่เรียบร้อย ได้ทรงพัฒนากิจการทหารเรือไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าหลายประการ นับว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้ทรงพระคุณอันใหญ่หลวงต่อกองทัพเรือปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสถาปนากรมทหารเรือขึ้นเป็นกระทรวงทหารเรือ พระองค์ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีเป็นพระองค์แรก และยังได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น “ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454

ในระหว่างที่ทรงรับราชการในกองทัพเรือ ทรงได้รับพระราชทานพระยศต่างๆดังนี้

- วันที่ 5 พฤษภาคม พ. ศ. 2447 ทรงได้รับพระราชทานพระยศ พลเรือโท

- วันที่ 11 มกราคม พ. ศ. 2460 ทรงได้รับพระราชทานพระยศ พลเรือเอก

- วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ทรงได้รับพระราชทานพระยศ จอมพลเรือ

ทรงย้ายกลับมารับราชการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2463 เพราะ สมเด็จพระอนุชาธิราช(ในรัชกาลที่ 6)เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ได้ทิวงคตลง และด้วยเหตุที่สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกผุ้อำนวยการสภากาชาดสยามอยู่ด้วยทำให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ต้องทรงดำรงตำแหน่งนั้นสืบต่อมา รวมเวลาที่ทรงรับราชการในกองทัพเรือได้ 6 ปี

       ในตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก ทรงพัฒนากิจการการบินและการนำทหารไปซ้อมรบด้วยยุทธวิธีที่ทันสมัย ในตำแหน่ง อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม ได้ทรงดำเนินการจนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก ได้ทรงดำรงตำแหน่ง 1 ใน 5 ของคณะกรรมการสากลกาชาด ซึ่งต้องคัดเลือกจากประเทศที่มีผลงานเป็นเยี่ยมจึงจะดำรงตำแหน่งนี้ได้ นายกสภากาชาดอเมริกา ได้เสนอให้พระองค์รงดำรงตำแหน่งนี้ ด้วยเหตุว่าทรงมีผลงานเด่นที่สุดในกิจการกาชาดทวีปเอเชีย

       ทรงได้รับการแต่งตั้ง “ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ดิลกจันทรนิภาพงศ์ มหามกุฎวงศ์นราธิราช จุฬาลงกรณนาถราชวโรรส อดุลยยศอุภโตพิสุทธิ นรุตมรัตนขัตติยราชกุมาร กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สชีวะเชษฐสาธิษฐสุขุมาลกษัตริย์ อภิรัฏฐมหาเสนานหุษเนาอุฑฑิน จุฬินทรปริยมหาราชวรางกูร สรพพันธุธูรราชประยูรประดิษฐาประชาธิปกปัฐพินทร์ ปรมินทรมหาราชวโรปการ ปรีชาไวยัตโนฬารสุรพลประภาพ ปราบต์ไตรรัชยยุคนุกติธรรมอรรถศาสตรอุดมอาร์ชวีวีรยาศรัย เมตตามันตภาณีศีตลหฤทัย พุทธาทิไตรรัตนศาณธาดา มหันตเดชานุภาพบพิตร ” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2468 และได้รับพระราชทานพระยศจอมพล ราชองครักษ์แก่พระองค์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2468 ในรัชกาลนี้ได้ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญดังนี้

- ทรงดำรงตำแหน่ง องคมนตรี และ อภิรัฐมนตรี ในอภิรัฐมนตรีสภา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และได้ทรงดำรงตำแหน่ง ประธานอภิรัฐมนตรีส ภาและ ประธานเสนาบดีสภา ในเวลาต่อมา

- ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทาวงกลาโหม เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2469

- ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471

      นอกจากนี้ยังได้ทรงราชการพิเศษต่างๆมากมาย เช่น ทรงเป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณในส่วนของทหาร เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทรงเป็นกรรมการตรวจร่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทรงเป็นประธานสร้างสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศทุกครั้ง เป็นต้น นับว่าทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากผู้หนึ่งในรัชกาลนี้

      ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและได้อัญเชิญพระองค์เป็นองค์ประกัน เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขอร้องกับคณะราษฎรให้ปล่อยพระองค์เสีย และให้เสด็จไปประทับยังต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิตจึงต้องเสด็จไปประทับที่ ตำหนักประเสบัน ถนนเนลันด์ ตำบลจีปะกันดี เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั่น เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการจัดการพิธีพระศพอย่างเรียบง่าย ณ สุสานเทศบาล เมืองบันดุง พระศพฝังไว้ ณ สุสานที่ทรงตั้งชื่อไว้ว่า “ สวนสวรรค์ ” นอกเมืองบันดุง จากนั้นในพ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศบริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต เป็นผู้แทนพระองค์อัญเชิญพระศพกลับประเทศโดยทางเครื่องบิน พระศพมาถึงกรุงเทพในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2491 ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ตั้งโกศพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร มีพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวาย แล้วพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ต่อจากรัชกาลที่ 8

      สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีพระโอรส-ธิดาด้วยหม่อมเจ้าหญิงประสมสงค์ 7 พระองค์คือ

1.พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศบริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต

2.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง

3.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงษวิจิตร

4.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย

5.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน

6.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี

7.พระธิดา สิ้นพระชนม์แต่วัยเยาว์พระชันษา

8.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรียชาติสุขุมพันธุ์

    และทรงมีพระโอรส-ธิดาด้วยหม่อมสมพันธุ์ บุตรีของพระยาวทัญญูวินิจฉัย(หม่อมหลวงชุ่ม ปาลกะวงศ์) 2 พระองค์ คือ

1.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา

2.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์

       พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางดนตรีอย่างมากดังจะกล่าวถึงในบทความต่อไป

 

กลับสู่ด้านบน | กลับสู่หน้าบทความ | พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์