สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์

พระอัจฉริยภาพทางดนตรี

           จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 33 ในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงหัดดนตรีไทยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เมื่อทรงเริ่มศึกษาในโรงเรียนราช-กุมาร โดยจับซอเป็นเครื่องดนตรีแรกและทรงได้ดีอย่างรวดเร็ว
           ถึงปี พ.ศ. 2437 ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนี ได้ทรงใช้เวลาว่างเรียนวิชาดนตรี เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยก็ทรงเริ่มนิพนธ์บืเพลงสากลขึ้นก่อน จนได้รับคำยกย่องว่า ทูนกระหม่อมบริพัตรฯทรงเป็นคนไทยคนแรกที่แต่งเพลงแบบตะวันตก
           ณ วังบางขุนพรหมที่ประทับ จะมีปี่พาทย์ไม้แข็ง วงเครื่องสาย วงมโหรีและบรรดาครูดนตรี พระประยูรญาติที่เป็นดนตรีไทยเข้ามาเฝ้าคุยกันเป็นเวลานานๆอยู่เสมอ มีทั้งที่มาบรรเลงถวาย มาคุยแลกเปลี่ยนเรื่องดนตรี จนบางท่านได้ต่อเพลงถวาย ทรงปรึกษาและทบทวนเพลงต่างๆกับจางวางทั่ว พาทยโกศลเป็นประจำ นอกจากจะทรงเครื่องดนตรีไทยได้แทบทุกชนิดแล้ว ยังทรงเปียโนอยู่เป็นประจำ
           ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการมานานถึงสามแผ่นดิน นับแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2446-2475) เป็นเวลา 29 ปี ทรงใช้เวลาว่างจากราชการส่วนหนึ่งพัฒนาดนตรีไทย และสร้างเพลงแบบตะวันตกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ทรงพัฒนาการดนตรีที่กองทัพเรือก่อนแล้วต่อมายังกองทัพบก จนทั้งสองกองทัพมีความเจริญขึ้นเป็นอันมาก โดยเฉพาะการนำเพลงไทยมาบรรเลงด้วยแตรวงสากลโดยการผสมผสานเครื่องดนตรีไทยและสากลอย่างดงามเป้นครั้งแรกของประวัติการดนตรี ทรงสอนและปรับวงด้วยพระองค์เองจนกระทั่งวงสามารถบรรเลงทั้งเพลงไทยและสากลรับแขกบ้านแขกเมืองในพิธีการสำคัญต่างๆได้อย่างดีเยี่ยมจนเป็นที่ชื่นชมกล่าวขวัญ ที่สำคัญได้ทรงคิดสิ่งใหม่ 2 สิ่งขึ้นสำหรับดนตรีไทย หนึ่งคือ การบรรเลงซอสามสายเลียนคำร้องแบบปี่ ซึ่งได้ทรงถ่ายทอดวิชานี้ให้ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล สองคือ วิธีการร้องที่ใช้วิธีการตะวันตกมาผสม และการใช้นักร้องหญิงที่มีเสียงทุ้มต่ำกว่าตามขนบเดิม ซึ่งได้ทรงฝึกจากเริ่มต้นให้กับคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณซึ่งมีเสียงทุ้ม ต่างจากนักรองเพลงไทยเดิมทั่วไป อีกทั้งได้ปรับคีย์เสียงวงปี่พาทย์ตามเสียงร้องด้วย ทรงฝึกเทคนิคการใช้พลังเสียงแบบโอเปราให้กับนายโป๊ะ เหมรำไพ ซึ่งเป็นนายสิบทหารเรือสมัยนั้นเพื่อขับกาพย์เห่เรือในพระราชพิธีทางชลมารคให้ได้ยินก้องกังวานทั้งสองฝั่งแม่น้ำ นอกจากนี้ทรงส่งเสริมให้จัดหาครูดีๆทั้งในและนอกประเทศเข้ามาสอนเพิ่มเติมอีกด้วย
          เพลงที่ทรงนิพนธ์และแยกเสียงประสานมีความไพเราะและมีลีลาอุบายที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะทางประสานเสียง อีกทั้งตัวดนตรีมีความสนุกสนาน ซุกซน และอารมณ์ขันด้วยอุบายการเรียบเรียงของลีลาและทำนองล้อรับ จนถึงปัจจุบันยังคงความแปลกใหม่ไว้ได้อย่างน่าพิศวง เป็นที่ชื่นชมกล่าวขวัญในกลุ่มนักดนตรีและนักวิชาการดนตรีทุกสมัยว่า ทูลกระหม่อมบริพัตรฯทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นศิลปินดนตรีที่แท้จริง สมควรแล้วที่จะยกย่องว่าเป็นพระอาจารย์แห่งดนตรีของชาติท่านหนึ่ง และจากการที่ได้ทรงนิพนธ์เพลงสากลไว้เป็นพระองค์แรกในประเทศไทย วงการเพลงไทยสากลจึงถวายพระสมญาว่า “พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล”
           หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทูลกระหม่อมบริพัตรฯต้องเสด็จประทับอยู่ ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ทรงใช้เวลาว่างทรงพระอักษรทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และดัชท์ ที่สำคัญได้ทรงนิพนธ์เพลงไทยสำหรับวงปี่พาทย์เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ตลอดพระชนมายุ 63 ปีเศษ มีเพลงที่ทรงนิพนธ์ไว้ประมาณ 70 เพลง บ้างสูญหายไป บ้างเพิ่งจะค้นพบหลังจากที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วหลายสิบปี

 

กลับสู่ด้านบน | กลับสู่หน้าบทความ | กลับสู่หน้าพระประวัติ